เรียนรู้ 10 เทคนิคในการบรีฟงานออกแบบอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดความผิดพลาด เพิ่มความเข้าใจ และสร้างสรรค์งานออกแบบที่ตรงใจทั้งลูกค้าและนักออกแบบ
การบรีฟงานออกแบบกราฟิกเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากไม่ใช่แค่การบอกว่าต้องการอะไร แต่มันคือการสื่อสารรายละเอียดทั้งหมดที่จำเป็นเพื่อให้ผู้ออกแบบเข้าใจแนวทางและสามารถสร้างสรรค์งานได้อย่างตรงใจและรวดเร็ว การบรีฟที่ชัดเจนจะช่วยลดความเสี่ยงในการทำงานผิดพลาด ซึ่งอาจทำให้ต้องมีการแก้ไขหลายครั้ง อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อเวลาและค่าใช้จ่าย ในบทความนี้เราจะให้ความรู้เกี่ยวกับรายละเอียดการบรีฟงานที่ชัดเจนมีประสิทธิภาพ หากไม่มีการบรีฟที่ชัดเจน งานที่ออกมาอาจไม่ตรงตามความคาดหวัง นอกจากนี้ยังมีการแนะนำเทคนิคต่างๆ ที่ช่วยให้การบรีฟงานออกแบบขงอคุณประสบความสำเร็จ ลดความยุ่งยาก และเพิ่มโอกาสในการได้ผลลัพธ์ที่ตรงตามความต้องการ
ทำไมการบรีฟงานออกแบบถึงสำคัญ?
การบรีฟงานออกแบบกราฟิกไม่ใช่แค่การบอกว่าต้องการอะไร แต่เป็นการสื่อสารรายละเอียดทั้งหมดที่จำเป็น เพื่อให้ดีไซเนอร์เข้าใจแนวทางและสามารถสร้างสรรค์งานได้อย่างตรงใจและรวดเร็ว หากไม่มีการบรีฟที่ชัดเจน ผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่ตรงตามความคาดหวัง ทำให้ต้องมีการแก้ไขซ้ำหลายครั้ง ซึ่งไม่เพียงแต่เสียเวลา แต่ยังอาจทำให้งานล่าช้าเกินวันเวลาที่กำหนดอีกด้วย การบรีฟที่ดีจึงมีความสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการและช่วยให้กระบวนการทำงานราบรื่นยิ่งขึ้น
10 เทคนิคบรีฟงานออกแบบยังไงให้ปัง
1.บรีฟอย่างละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้
การบรีฟงานออกแบบควรเริ่มต้นด้วยการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนและชัดเจนที่สุด โดยเฉพาะเมื่อสื่อสารกับนักออกแบบ เราไม่สามารถคาดหวังให้พวกเขารู้ทุกอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องการได้ หากไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ โดยการสื่อสารที่ชัดเจนจะช่วยให้นักออกแบบเข้าใจแนวทางและความต้องการของเราได้ดียิ่งขึ้น ทำให้สามารถสร้างสรรค์งานที่ตรงใจและตอบโจทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นควรบรีฟด้วยข้อมูลต่อไปนี้
- ลงสื่อที่ไหน? เช่น โซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์
- แบรนด์ที่เกี่ยวข้องคืออะไร?
- กลุ่มเป้าหมายของงานนี้คือใคร? มีพฤติกรรมอย่างไร?
- จุดประสงค์ของงานออกแบบนี้คืออะไร?
- Key Message หรือข้อความสำคัญที่ต้องการสื่อสารผ่านงานออกแบบคืออะไร?
การให้ตัวอย่างงานออกแบบที่คุณชอบหรือมีความใกล้เคียงกับที่ต้องการ ก็จะช่วยให้นักออกแบบเข้าใจได้ง่ายขึ้น รวมถึงการบรีฟแบบชัดเจนและครบถ้วนจะช่วยลดโอกาสการแก้ไขงานซ้ำๆ และช่วยให้งานเสร็จสมบูรณ์ได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ
2.บอกให้ชัดเจนว่าแบบไหนที่ไม่ต้องการ
การบรีฟงานออกแบบไม่เพียงแต่ต้องระบุสิ่งที่ต้องการ แต่ยังควรชี้แจงสิ่งที่ไม่ต้องการอย่างชัดเจนด้วย เช่น หากไม่ต้องการพื้นหลังสีขาว หรือไม่อยากใช้ฟอนต์บางประเภท การระบุสิ่งที่ไม่ต้องการจะช่วยลดความเข้าใจผิดและป้องกันการแก้ไขงานที่ไม่จำเป็น ซึ่งทำให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ตัวอย่างการบรีฟ
- ไม่เอาพื้นหลังสีขาว
- ไม่ต้องการใช้ฟอนต์ Angsana
- ห้ามใช้ภาพที่มีนางแบบเป็นชาวต่างชาติ
สิ่งเหล่านี้ช่วยให้นักออกแบบสามารถจำกัดตัวเลือกได้ง่ายขึ้น และสร้างงานที่ตรงกับความต้องการของคุณมากขึ้น
3.อธิบายให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด
การบรีฟที่ใช้คำอธิบายที่คลุมเครือจะทำให้นักออกแบบเข้าใจผิดได้ง่าย เช่น การใช้คำว่า “ขอแบบปังๆ” หรือ “ขอสีเขียวที่ดูหรูหรา” เป็นตัวอย่างของการบรีฟที่ไม่ชัดเจน ควรเลือกใช้คำที่จับต้องได้ หรือใช้ตัวอย่างภาพ สี และองค์ประกอบต่างๆ เพื่อช่วยอธิบาย
ตัวอย่างการอธิบาย
- ขอสีเขียวแบบหรูหรา → แนะนำใช้โค้ดสี #004d40 (เขียวเข้ม)
- อยากได้เลย์เอาท์แบบสะอาดตา → แนบตัวอย่างภาพงานที่เคยทำไว้
การอธิบายที่ชัดเจนจะช่วยให้นักออกแบบเข้าใจภาพรวมและสามารถสร้างสรรค์งานได้ตามที่คุณต้องการ
4.วาดไอเดียให้เห็นภาพ
หากมีแนวคิดหรือไอเดียในใจ อย่าลังเลที่จะวาดมันออกมา แม้ว่าคุณอาจจะไม่ได้มีทักษะการวาดภาพมาก แต่การสเก็ตช์ไอเดียง่ายๆ จะช่วยให้นักออกแบบเข้าใจแนวทางของคุณมากขึ้น
ตัวอย่าง
วาดโครงร่างการจัดวางข้อความและรูปภาพเพื่อให้เห็นภาพโดยรวม หรือใช้โปรแกรมวาดรูปง่ายๆ เพื่อสื่อสารไอเดีย
5.ให้เวลาในการทำงานอย่างเหมาะสม
การสร้างสรรค์งานที่มีคุณภาพนั้นต้องการเวลา ดังนั้นการจัดการเวลาในการบรีฟงานออกแบบจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากคุณกำหนดเดดไลน์ที่รัดตัวเกินไป อาจส่งผลให้ไม่ได้รับงานที่มีคุณภาพตามที่คาดหวัง ในขณะที่การให้เวลาที่เพียงพอจะช่วยให้นักออกแบบสามารถคิดและพัฒนางานได้อย่างเต็มที่ ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ตรงตามความต้องการและมีคุณภาพสูง
ตัวอย่างการกำหนดเวลา
- ส่งบรีฟภายในวันที่ 1 ตุลาคม
- ขอรับแบบร่างครั้งแรกภายในวันที่ 5 ตุลาคม
- ต้องการงานเสร็จสมบูรณ์ภายในวันที่ 10 ตุลาคม
การกำหนดเวลาอย่างชัดเจนและยืดหยุ่นจะช่วยให้นักออกแบบสามารถวางแผนการทำงานได้ดีขึ้น
6.อยู่ในช่วงเวลาที่ติดต่อได้
หลังจากที่ได้บรีฟงานออกไปแล้ว ควรเตรียมพร้อมที่จะตอบคำถามหรือข้อสงสัยที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการทำงาน โดยนักออกแบบอาจมีคำถามเพิ่มเติมที่ต้องการคำตอบอย่างรวดเร็ว เพื่อให้กระบวนการทำงานดำเนินไปอย่างราบรื่น ดังน้ัน การเปิดช่องทางการสื่อสารที่ชัดเจนจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่าง
- อยู่ในช่วงเวลาทำการที่พร้อมตอบคำถาม
- ให้ช่องทางการติดต่อฉุกเฉิน เช่น เบอร์โทรหรืออีเมลสำรอง
7.ตรวจสอบงานตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อลดความเสี่ยง
การตรวจสอบความคืบหน้าของงานตั้งแต่ช่วงแรกจะช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง เนื่องจากการบรีฟงานครั้งแรกอาจไม่สมบูรณ์แบบเสมอไป ดังนั้นจึงควรรีบตรวจสอบและปรับแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่ใหญ่ขึ้นในภายหลัง ซึ่งการมีการสื่อสารที่ต่อเนื่องจะทำให้สามารถแก้ไขข้อผิดพลาดได้ทันเวลา และทำให้งานออกมาสอดคล้องกับความต้องการมากที่สุด
8.ติเพื่อก่อ และให้คำแนะนำที่สร้างสรรค์
การให้ฟีดแบ็กเป็นเรื่องที่สำคัญ หากไม่ชอบงาน ควรบอกให้นักออกแบบทราบว่าต้องการแก้ไขอะไรและอย่างไร ไม่ควรแค่บอกว่า “ไม่ชอบ” แต่ควรอธิบายให้ชัดเจนว่าสิ่งใดที่ไม่พึงพอใจ และต้องการปรับเปลี่ยนอย่างไร
9.ถามคำถามเมื่อไม่เข้าใจ
หากเจอกับศัพท์หรือเทคนิคที่ไม่เข้าใจ ไม่ต้องลังเลที่จะถาม นักออกแบบอาจใช้คำศัพท์เฉพาะที่คนทั่วไปไม่คุ้นเคย เช่น Kerning, Contrast หรือ Render การถามคำถามจะช่วยให้คุณเข้าใจงานมากขึ้นและสามารถสื่อสารกับนักออกแบบได้ตรงประเด็น
10.เคารพในความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบ
นักออกแบบที่มีประสบการณ์มักจะมีมุมมองหรือแนวคิดที่แตกต่างจากสิ่งที่คุณคาดหวัง ดังนั้น ก่อนที่จะรีบปฏิเสธ ควรเปิดใจฟังเหตุผลของพวกเขาก่อน บางครั้งแนวคิดของนักออกแบบอาจช่วยให้งานดูดีขึ้นและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การรับฟังและพิจารณามุมมองใหม่ๆ จะทำให้กระบวนการสร้างสรรค์เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
สรุป
การบรีฟงานออกแบบที่ดีไม่เพียงแต่ช่วยให้นักออกแบบเข้าใจงาน และทำงานได้เร็วขึ้น แต่ยังช่วยให้ผลลัพธ์ออกมาตรงตามที่คุณต้องการ รวมถึงการบรีฟที่ชัดเจน ละเอียด และพร้อมให้คำแนะนำเพิ่มเติมระหว่างกระบวนการทำงานก็จะช่วยลดความผิดพลาด และเพิ่มโอกาสให้งานสำเร็จได้ตามที่เราคาดหวัง